เผยแพร่: 15 พ.ค. 2568 โดย: รุ่งเรือง หวนระลึก
วิวัฒนาการของระบบออกอากาศโทรทัศน์ จาก ระบบทีวีแอนะล็อก สู่ยุคระบบทีวีทีวีดิจิทัล (ตอนที่ 4)
“คุณเคยจินตนาการไหมว่า จากภาพขาวดำกระตุกในกล่องไม้ เรามาถึงวันที่ภาพบนจอทีวีสว่างสดใสชัดระดับพิกเซล?”
โทรทัศน์นั้นไม่ได้เป็นเพียงแค่เครื่องใช้ไฟฟ้า แต่คือสิ่งที่สะท้อนพัฒนาการของเทคโนโลยีโลก ตลอดกว่าศตวรรษ เทคโนโลยีโทรทัศน์ได้ถูกพัฒนาก้าวไกลเกินกว่าที่ผู้คนยุคแรกจะจินตนาการได้ ทั้งด้านโครงสร้าง หน้าจอ ความคมชัด สีสัน และระบบควบคุม จนกลายเป็นศูนย์กลางความบันเทิงในบ้านของคนทั่วโลก บทความนี้จะพาคุณย้อนรอยทุกก้าวสำคัญของเทคโนโลยี “ทีวี” ตั้งแต่ต้นแบบยุคเครื่องจักรกลขาวดำ ไปจนถึงสุดยอดเทคโนโลยีล้ำยุคอย่าง ไมโครแอลอีดีทีวี ที่ให้ภาพสมจริงระดับพิกเซล
เจาะลึกวิวัฒนาการเทคโนโลยีทีวีในแต่ละยุค
1. โทรทัศน์เชิงกล (Mechanical TV) เทคโนโลยีเป็นระบบกลไกหมุนและกระจกสะท้อนภาพ เป็นทีวียุคแรกที่มีพัฒนาการจากแนวคิดในการส่งภาพผ่านคลื่นและเป็นการวางรากฐานของการแพร่ภาพระบบทีวี ภาพไม่ชัด การเคลื่อนไหวกระตุก และสุดท้ายไม่สามารถใช้งานได้จริงในเชิงพาณิชย์
2. โทรทัศน์ขาวดำจอแก้ว (Cathode Ray Tube : CRT) ใช้เทคโนโลยีหลอดรังสีแคโทดยิงแสงอิเล็กตรอนลงบนหน้าจอเรืองแสงให้เกิดการเคลื่อนไหวของภาพ พัฒนาจากระบบกลไกสู่ระบบอิเล็กทรอนิกส์ มีจุดเด่น คือ ภาพคมชัด สีสดใส รองรับการออกอากาศจริง จุดด้อย คือ หนัก กินพื้นที่และพลังงานสูง
3. โทรทัศน์สีจอแก้ว (Color CRT TV) ใช้เทคโนโลยี CRT แบบมีฟิลเตอร์สี (RGB) พัฒนาการมาจาก โทรทัศน์ขาวดำจอแก้ว จุดเด่น คือ ให้สีสันสมจริง ได้รับความนิยมสูงมากในขณะนั้น แต่มีจุดด้อย คือ มีน้ำหนักมากและมีขนาดใหญ่
4. โทรทัศน์โปรเจกชัน (Projection TV) ใช้เทคโนโลยี ฉายภาพจากหลอดไฟไปยังจอฉายภายในเครื่อง พัฒนาการจากความพยายามสร้างจอทีวีให้มีขนาดใหญ่ขึ้น จุดเด่น คือ จอใหญ่ จุดด้อย คือ ภาพไม่คม มุมมองจำกัด และต้องเปลี่ยนหลอดไฟตามชั่วโมงการใช้งาน
5. โทรทัศน์จอพลาสมา (Plasma Display Panel PDP) ใช้เทคโนโลยี ก๊าซพลาสม่า รวมกับฟอสเฟอร์เรืองแสง เป็นพัฒนาการต่อจากโทรทัศน์สีจอแก้วแบบจอแบน จุดเด่น คือ ให้สีสด คอนทราสต์ดี มุมมองกว้าง แต่มีจุดด้อย คือ กินไฟสูง เกิดภาพค้าง (Burn-in)
6. โทรทัศน์แอลซีดี (LCD TV) ใช้เทคโนโลยีจอภาพแบบ LCD (Liquid Crystal Display) และ ใช้หลอดไฟ CCFL เป็นแหล่งกำเนิดแสง (Backlight) มีจุดเด่น คือ น้ำหนักเบา ประหยัดพลังงาน ราคาลดลงเรื่อยๆ และมีจุดด้อย คือ สีดำไม่สนิท มุมมองจำกัด
7. โทรทัศน์แอลอีดี (LED TV) ใช้เทคโนโลยีจอภาพแบบ LCD (Liquid Crystal Display) และ ใช้หลอดไฟ LED เป็นแหล่งกำเนิดแสง (Backlight) เป็นพัฒนาการต่อจาก โทรทัศน์แอลซีดี มีจุดเด่น คือ สว่างกว่า ประหยัดไฟกว่า ภาพคมขึ้น จุดด้อย คือ ยังใช้โครงสร้างแบบ LCD เดิม สีดำยังไม่สนิทเมื่อเทียบกับเทคโนโลยี OLED TV
8. โทรทัศน์โอแอลอีดี (OLED TV) ใช้เทคโนโลยี Organic Light Emitting Diode หรือ ไดโอดเปล่งแสงอินทรีย์ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีจอภาพที่ ไม่ต้องพึ่งพาแสงพื้นหลัง (Backlight) เหมือน โทรทัศน์แอลซีดี หรือ โทรทัศน์แอลอีดี เนื่องจากแต่ละพิกเซลสามารถ เปล่งแสงได้เอง (Self-emissive) ทำให้สามารถควบคุมแสงได้อย่างแม่นยำและแสดงสีดำได้สมจริง จุดเด่น คือ สีสดใสมาก ความสว่างสูง สีดำสนิท บางเฉียบ ยืดหยุ่นโค้งงอได้ แต่ยังมี ราคาสูง
9. โทรทัศน์คิวแอลอีดี (QLED TV โดย Samsung) ใช้เทคโนโลยี จอภาพยังคงใช้หลักการ LCD แต่มีแสงพื้นหลัง (Backlight) ที่ผ่าน ฟิล์ม Quantum Dot LED เพื่อช่วยในเรื่องคุณภาพของสีและความสว่างของภาพ จุดเด่น สีสดใสมาก ความสว่างสูง จุดด้อย คือ ใช้ Backlight แบบเดิมทำให้สียังไม่ดำสนิท คอนทราสต์ต่ำกว่า และมุมมองภาพแคบกว่า OLED
10. โทรทัศน์คิวเอ็นอีดี (QNED TV โดย LG) ใช้เทคโนโลยี Quantum Dot NanoCell Mini LED เป็นนวัตกรรมจาก LG ที่รวมข้อดีของ 3 เทคโนโลยีหลัก ได้แก่ ควอนตัมดอท (Quantum Dot), นาโนเซลล์ (NanoCell) และ มินิแอลอีดี (Mini LED) เข้าด้วยกัน เพื่อให้ได้ภาพที่มีคุณภาพสูง ทั้งในด้านสี ความสว่าง และความคมชัด จุดเด่น คือ ความละเอียดแม่นยำ คุมแสงเป็นโซนเล็กได้ดีมาก สีเที่ยงตรงสูง จุดด้อย คือ ยังไม่ดำสนิทแบบ OLED TV และราคาค่อนข้างสูง
11. โทรทัศน์มินิแอลอีดี (Mini LED TV) เป็นเทคโนโลยีจอภาพที่พัฒนาขจากโทรทัศน์แอลอีดี (LED TV) โดยใช้หลอดไฟ Mini LED ขนาดเล็กจำนวนมากเป็นแหล่งแสงพื้นหลัง ทำให้ควบคุมความสว่างได้ละเอียดและแม่นยำขึ้น ส่งผลให้ภาพมีคอนทราสต์สูง สีดำลึก และลดแสงรั่วได้ดี แม้ยังใช้จอ LCD แต่ Mini LED สามารถให้ภาพใกล้เคียง OLED มากขึ้น จุดเด่น คือ ความสว่างสูง ความทนทาน และคุณภาพภาพที่ดี ในราคาที่สมเหตุสมผล จุดด้อย คือ ยังไม่ดำสนิทแบบ OLED TV
12. โทรทัศน์ไมโครแอลอีดี (Micro LED TV) เป็นเทคโนโลยีโทรทัศน์รุ่นใหม่ล่าสุดที่ใช้ หลอดไมโครแอลอีดี (Micro LED) ขนาดเล็กมากเป็นแหล่งกำเนิดแสงแต่ละพิกเซลแบบอิสระ โดยไม่มีฟิลเตอร์สีหรือแผง Backlight เหมือน LCD ทำให้แสดงผลสีได้แม่นยำ คอนทราสต์สูง และให้สีดำสนิทในระดับเดียวกับ OLED จุดเด่นของ Micro LED คือ ความสว่างที่สูงกว่า OLED อายุการใช้งานยาวนานกว่า และไม่มีปัญหาเบิร์นอิน (Burn-in) จึงเหมาะกับการใช้งานระยะยาว อย่างไรก็ตาม ยังเป็นเทคโนโลยีที่ ต้นทุนการผลิตสูงและมีขนาดจอจำกัด ทำให้ยังไม่แพร่หลายในตลาดผู้บริโภคทั่วไปในปัจจุบัน