พัฒนาการของระบบทีวีในประเทศไทย จากทีวีขาวดำสู่ทีวีสี | ประวัติทีวีอนาล็อก

พัฒนาการของระบบทีวีในประเทศไทย จากทีวีขาวดำสู่ทีวีสี | ประวัติทีวีอนาล็อก

เผยแพร่: 15 พ.ค. 2568 ปรับปรุง: 16 พ.ค. 2568 โดย: รุ่งเรือง หวนระลึก

พัฒนาการของระบบทีวีในประเทศไทย จาก

ทีวีขาวดำสู่ทีวีสี | ประวัติทีวีอนาล็อก

วิวัฒนาการของระบบออกอากาศโทรทัศน์  จาก ระบบทีวีแอนะล็อก สู่ยุค ระบบทีวีทีวีดิจิทัล (ตอนที่ 2)

       ลองจินตนาการถึงยุคที่ โทรทัศน์คือของหรูหรา มีแค่ไม่กี่บ้านที่มีเครื่องรับโทรทัศน์ขนาดใหญ่สีดำขาวไว้ดูข่าวจากรัฐบาล หรือละครหลังข่าวเพียงไม่กี่ชั่วโมงต่อวัน… วันเวลาผ่านไป โลกเปลี่ยน และประเทศไทยก็เปลี่ยนเช่นกัน บทความนี้จะพาคุณย้อนรอยพัฒนาการของระบบทีวีไทย ตั้งแต่ยุคขาวดำจนกลายเป็นทีวีสี พร้อมมองเห็นภาพก้าวต่อไปของการแพร่ภาพทีวีในอนาคต

 

การเติบโตของสถานีโทรทัศน์ยุคอนาล็อก จุดเริ่มต้นของสื่อกระแสหลัก

ทีวีขาวดำ ยุคเริ่มต้นของทีวีในประเทศไทย จากความฝันสู่ความจริง

       ในปี พ.ศ. 2495 รัฐบาลไทยภายใต้การนำของจอมพล ป. พิบูลสงคราม เริ่มมีแนวคิดจัดตั้งสถานีโทรทัศน์ โดยศึกษาแบบอย่างจากต่างประเทศ จนกระทั่งในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2498 สถานี "ไทยทีวี ช่อง 4 บางขุนพรหม" ได้เริ่มออกอากาศอย่างเป็นทางการ ถือเป็นก้าวแรกของการแพร่ภาพโทรทัศน์ในประเทศไทยในระบบ “ทีวีขาวดำ” (Black & White TV)

เปลี่ยนผ่านสู่ยุคทีวีสี จุดเปลี่ยนของสังคมไทย

ปี พ.ศ. 2510 ถือเป็นก้าวสำคัญเมื่อ ช่อง 7 สี เริ่มทดสอบออกอากาศระบบ โทรทัศน์สี และเริ่มให้บริการเต็มรูปแบบในปี พ.ศ. 2512 ช่วงปี 2520-2530 คือยุคเฟื่องฟูของทีวีสีในประเทศไทย ด้วยราคาที่เข้าถึงได้ และเนื้อหารายการที่สนุกสนาน เช่น ละครพื้นบ้าน เกมโชว์ และการแข่งขันกีฬา กีฬา ทำให้การรับชมรายการทีวีกลายเป็นกิจกรรมประจำวันของครอบครัวไทย

 

 

การเปลี่ยนผ่านระบบโทรทัศน์แอนะล็อกในประเทศไทย จาก ทีวีขาวดำ สู่ ทีวีสี

   พ.ศ. 2495 (ค.ศ. 1952) ในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้มีแนวคิดการจัดตั้งโทรทัศน์ในประเทศไทย ประเทศไทยเริ่มมีแนวคิดในการจัดตั้งสถานีโทรทัศน์ โดยมีการศึกษาและทดลองระบบโทรทัศน์ตามแบบอย่างต่างประเทศ 

       พ.ศ. 2497 (ค.ศ. 1954) ได้มีการจัดตั้งสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีช่อง 4 บางขุนพรหมขึ้นเป็นสถานีโทรทัศน์แห่งแรกของประเทศไทย โดยเริ่มแพร่ภาพออกอากาศอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2498 (ค.ศ. 1955) โดยใช้งาน ระบบขาวดำ (สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีช่อง 4 บางขุนพรหม เริ่มแพร่ภาพ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2498 และในวันที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2520 ได้เปลี่ยนเป็น ไทยทีวีสีช่อง 9 อ.ส.ม.ท. และในวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2557 จนถึงปัจจุบัน ได้เปลี่ยนเป็น ช่อง 9 MCOT HD)

       พ.ศ. 2500 (ค.ศ.1957) ได้มีการจัดตั้งสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก (ททบ.) โดยเริ่มแพร่ภาพออกอากาศอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2501 เป็นสถานีโทรทัศน์แห่งที่ 2 ของประเทศไทย (สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก (ททบ.)  เริ่มแพร่ภาพ วันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2501 ออกอากาศเป็นโทรทัศน์ขาวดำช่องสัญญาณที่ 7 จึงเรียกว่า ททบ.7 หรือ ช่อง 7 ขาว-ดำ ต่อมาปี พ.ศ. 2517 จึงออกอากาศเป็นโทรทัศน์สี ทางช่องสัญญาณที่ 5 จึงเรียกว่า สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก ช่อง 5 (ททบ.5)

       พ.ศ. 2510 (ค.ศ. 1967) สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 เป็นสถานีโทรทัศน์แห่งที่ 3 ของประเทศไทย เป็นสถานีโทรทัศน์ภาคพื้นดินแห่งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่แพร่ภาพออกอากาศเป็นโทรทัศน์สี โดยเริ่มแพร่ภาพออกอากาศวันแรก ในวันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2510 และเป็นจุดเริ่มต้นของยุคโทรทัศน์สีในประเทศไทย

       พ.ศ. 2513 (ค.ศ. 1970) สถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 เป็นสถานีโทรทัศน์แห่งที่ 4 เริ่มแพร่ภาพออกอากาศ ในวันที่ 26 มีนาคม 2513 และ ในวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2513 สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 9 (ช่อง 9 MCOT HD) เริ่มแพร่ภาพออกอากาศในระบบโทรทัศน์สี

        พ.ศ. 2528 (ค.ศ. 1985) สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ช่อง 11 กรมประชาสัมพันธ์  (NBT 2HD) เป็นสถานีโทรทัศน์แห่งที่ 5 เริ่มแพร่ภาพออกอากาศประมาณต้นเดือนตุลาคม พ.ศ. 2528 เป็นสถานีโทรทัศน์แห่งชาติ ดำเนินการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารของราชการ นโยบายของรัฐบาล และเนื้อหาด้านการพัฒนาประเทศ ควบคู่กับรายการวัฒนธรรม ความรู้ และบันเทิงที่สร้างสรรค์

       พ.ศ. 2539 (ค.ศ. 1996) สถานีโทรทัศน์ไอทีวี (iTV) เป็นสถานีโทรทัศน์แห่งที่ 6 เริ่มออกอากาศเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2539 ในฐานะสถานีโทรทัศน์ภาคเอกชนแห่งแรกของประเทศไทย ที่เน้นนำเสนอข่าวสารและสารคดีในสัดส่วนกว่า 70% เพื่อส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชนและทำหน้าที่ตรวจสอบอำนาจรัฐ ต่อมาเมื่อวันที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2550 สถานีได้คืนสัมปทานให้แก่รัฐบาลเนื่องจากการผิดสัญญาสัมปทาน และเปลี่ยนชื่อเป็นสถานีโทรทัศน์ทีไอทีวี (TITV) จากนั้นในวันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2551 สถานีโทรทัศน์องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (Thai PBS) ได้รับช่วงดำเนินการต่อ โดยเป็นสถานีโทรทัศน์สาธารณะที่ได้รับเงินสนับสนุนจากภาษีบาป (ภาษีสุราและยาสูบ) มีเป้าหมายเพื่อให้บริการสาธารณะโดยไม่แสวงหากำไร มุ่งเน้นการนำเสนอข่าวสาร สารคดี การศึกษา และเนื้อหาที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมโดยรวม

         ระบบโทรทัศน์ (ระบบทีวี) ในประเทศไทย ในยุคระบบทีวีแอนะล็อก ก่อนที่จะเป็นระบบทีวีรวมศูนย์ ระบบเคเบิลทีวี หรือระบบทีวีดิจิทัล แพร่ภาพออกอากาศภาคพื้นดินทั้งหมด 6 ช่อง เลือกใช้การกระจายสัญญาณโทรทัศน์เป็นระบบ PAL เนื่องจากมีความเสถียร ให้คุณภาพสีที่ดี คมชัด เหมาะสมกับสภาพภูมิอากาศ ระบบสัญญาณของประเทศ ระบบนี้ได้รับการสนับสนุนจากเยอรมนีและใช้แพร่หลายในหลายประเทศในเอเชีย

พัฒนาการการนำเข้าจนเป็นฐานการผลิตทีวีในประเทศไทย

       ยุคทีวีขาวดำ (ปลายทศวรรษ 1950s - กลางทศวรรษ 1960s) โทรทัศน์ในยุคแรกเป็นของนำเข้าแบบสำเร็จรูปการพัฒนาด้านเทคโนโลยีที่สำคัญจากต่างประเทศทั้งหมด ส่วนใหญ่มาจากญี่ปุ่น, สหรัฐอเมริกา และยุโรป ราคาทีวีในขณะนั้นสูงมา เป็นของหรูหราสำหรับคนมีฐานะ แบรนด์ที่นิยม ได้แก่ RCA, National (Panasonic), Sony, Toshiba, Philips
       ยุคเปลี่ยนผ่านสู่ทีวีสี (กลางทศวรรษ 1960s - ทศวรรษ 1970s) ในยุคนี้เริ่มมีการทดลองและเริ่มต้นการออกอากาศและระบบโทรทัศน์สีในประเทศไทย โดยเริ่มทดลองออกอากาศโทรทัศน์สีในปี 1967 และเริ่มออกอากาศจริงในปี 1969 การนำเข้าโทรทัศน์สีจะนำเข้าจากญี่ปุ่นเป็นหลัก เช่น National, Sharp, Hitachi, Toshiba ราคาทีวีสีในยุคนี้ยังค่อนข้างมีราคาแพง และจำกัดในกลุ่มผู้มีรายได้สูงหรือหน่วยงานราชการเท่านั้น ในด้านการผลิต เริ่มมีการนำเข้าอะไหล่ทีวีมาประกอบหรือแอสเซมบลีในประเทศไทย (CKD) ภายใต้การควบคุมของบริษัทญี่ปุ่นบางแห่ง
       ยุคเฟื่องฟูของทีวีสี (ทศวรรษ 1980s - 1990s) ในยุคนี้ทีวีสีแบรนด์ญี่ปุ่นหลายตั้งโรงงานในไทย เช่น Panasonic, Toshiba และ Sharp มีการจ้างแรงงานไทยและผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศและส่งออกมากขึ้น ทำให้การนำเข้าลดลง เนื่องจากไทยสามารถผลิตได้เอง แบรนด์ที่โดดเด่นในตลาด National (Panasonic), Sharp, JVC, Sanyo, LG (GoldStar) และ Samsung 
        ยุคดิจิทัลและสมาร์ททีวี (2000s - ปัจจุบัน) ในยุคนี้หลายบริษัทญี่ปุ่นทยอยย้ายฐานการผลิตไปประเทศต้นทุนต่ำกว่า เช่น เวียดนาม อินโดนีเซีย แบรนด์เกาหลี (Samsung, LG) เริ่มครองตลาดมากขึ้น และมีโรงงานในประเทศไทยในช่วงหนึ่ง ประเทศไทยมีบริษัทรับจ้างผลิต (OEM/ODM) เช่น TCL, Skyworth, หรือผลิตให้แบรนด์ค้าปลีก ในด้านการนำเข้า มีการนำเข้าทีวีจากจีนเพิ่มขึ้นมาก โดยเฉพาะแบรนด์อย่าง TCL, Xiaomi, และแบรนด์ท้องถิ่นจากจีน ตลาดมีการแข่งขันรุนแรง ราคาถูกลง คุณภาพสูงขึ้น ทีวีเป็นแบบสมาร์ททีวี (ในประเทศไทยเป็นระบบปฏิบัติการ Android TV, WebOs หรือ Tizen ) ความละเอียด Ultra HD 4K หรือ 8K และการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตเป็นมาตรฐาน เทรนด์ของตลาดทีวี มีการผลิตทีวีเพื่อขายในรูปแบบออนไลน์และ บริการเช่า  (Subscription) แบบเมื่อชำระค่าเช่าครบสินค้าจะเป็นของผู้เช่า มากขึ้น

 ️ ผู้เขียน: รุ่งเรือง หวนระลึก
 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้